ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นทำธุรกิจ หลายท่านมีคำถามว่า เปิดบริษัทดีหรือไม่ ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการทำธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ซึ่งผู้ประกอบการต้องพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมกิจการและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รูปแบบธุรกิจ
1. ธุรกิจแบบบุคคลธรรมดา
การดำเนินงานในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือธุรกิจเจ้าของคนเดียว คือธุรกิจถือเป็นหนึ่งเดียวกับบุคคลธรรมดา ข้อดี: จัดตั้งได้ง่าย ข้อบังคับทางกฎหมายน้อย ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว การบริหารงานมีความคล่องตัว ข้อเสีย: ความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่าธุรกิจแบบนิติบุคคล เนื่องจากความไม่เพียงพอในข้อมูลทางบัญชี และเชิงบริหารจัดการ รวมทั้งผู้ประกอบการจะต้องรับความเสี่ยงที่สูงกว่าเพราะต้องรับผิดในหนี้สินที่เกิดขึ้นเต็มจำนวน
การจดทะเบียน
ผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ หากประกอบกิจการที่เข้าข่ายกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ เช่น กิจการที่ขายสินค้าในวันหนึ่งได้ตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปหรือมีสินค้าไว้เพื่อขายมูลค่ารวม 500 บาทขึ้นไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น website, Facebook, Instagram เป็นต้น
การจัดทำบัญชีและภาษี
บุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมีเงินได้ ประเภทที่ 5 - 8 (ไม่ว่าจะหักค่าใช้จ่ายอัตราเหมาหรือตามจริง) จะต้องจัดทำรายงานเงินสดรับจ่าย และผู้ประกอบการแบบบุคคลธรรมดามีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. ธุรกิจแบบนิติบุคคล
การดำเนินงานในรูปแบบนิติบุคคล กรณีนี้จะอธิบายถึงการดำเนินงานรูปแบบบริษัท คือ ธุรกิจที่มีผู้ร่วมลงทุนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ธุรกิจจะมีสถานะและภาระหนี้สินแยกจากตัวเจ้าของ และบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการบริษัท ข้อดี: จำกัดความรับผิดไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ตนถือ มีความน่าเชื่อถือมากกว่าบุคคลธรรมดาเนื่องจากจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีทำให้มีข้อมูลทางธุรกิจเพียงพอ เอื้ออำนวยในการขอสินเชื่อ ข้อเสีย: การบริหารในลักษณะคณะกรรมการบริษัทอาจไม่คล่องตัวบางสถานการณ์ มีข้อบังคับและรายงานที่ต้องจัดทำมากกว่า
การจดทะเบียน
ผู้ประกอบการจะต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
การจัดทำบัญชีและภาษี
มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชีและต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อรับรองบัญชี และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณีต้องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทางเรายินดีอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำเพิ่มเติม รับจดทะเบียนบริษัท | รับทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี | Twenty Four Audit and Accounting (twentyfouraa.com)
อ้างอิง: PowerPoint Presentation (rd.go.th)
Comments