บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี 2 รอบคือ รอบครึ่งปี (ตามแบบ ภ.ง.ด.51) และรอบสิ้นปี (ตามแบบ ภ.ง.ด.50)
การเสียภาษีตอนครึ่งปี คือ กิจการสามารถนำภาษีที่จ่ายชำระในรอบครึ่งปีนี้ไปหักออกจากภาษีที่จะต้องชำระตอนสิ้นรอบได้
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51) มีดังนี้
กลุ่มที่ 1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจซื้อมาขายไป ธุรกิจผลิต ดังนั้น ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้
กลุ่มที่ 2 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร หรือบริษัทเงินทุน
การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี มี 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ประมาณการกำไรสุทธิ ใช้กับบริษัทในกลุ่มที่ 1
กิจการต้องประมาณการกำไรสุทธิ คือ ประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของกิจการสำหรับรอบปีบัญชี และนำยอดกึ่งหนึ่งของตัวเลขประมาณการทั้งปีมาคูณอัตราภาษีเพื่อจ่ายชำระ เช่น
ประมาณการกำไรสุทธิทั้งรอบระยะเวลาบัญชี = 5,000,000 บาท
กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิทั้งรอบระยะเวลาบัญชี = 2,500,000 บาท
ดังนั้น กิจการจะเสียภาษีจาก 2,500,000 * อัตราภาษี
วิธีที่ 2 กำไรสุทธิที่เกิดจริงของ 6 เดือนแรก ใช้กับบริษัทในกลุ่มที่ 2
กำหนดการยื่นแบบและชำระ
กิจการต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 และชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน
ทั้งนี้ปีแรกที่เริ่มจดทะเบียนจัดตั้งหากรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน ถือว่าได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ในปีแรก
ข้อควรระวัง
ในการประมาณการกำไรสุทธินั้น หากกิจการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันควร กิจการจะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 20% ของภาษีที่ชำระขาดไป
นอกจากผู้ประกอบการต้องระวังไม่ให้ยื่นล่าช้าแล้ว ผู้ประกอบการควรสอบทานการประมาณการตัวเลขกำไรสุทธิด้วยเพราะหากคำนวณผิดพลาดไปโดยไม่มีเหตุอันควรแล้วก็จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย
อ้างอิง: กรมสรรพากร
Comentarios