top of page
Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

ออกใบลดหนี้ได้ตอนไหน

Updated: Feb 20, 2021

ผู้ประกอบการเคยหรือไม่ที่ขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้ว ต่อมาได้ลดราคาสินค้าหรือค่าบริการลงทำให้ต้องออก "ใบลดหนี้" เพื่อปรับปรุงภาษีขายให้ถูกต้อง ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต้องออก "ใบลดหนี้" มาทำความเข้าใจกันเพื่อปรับใช้ในกิจการได้อย่างเหมาะสม


เหตุที่ผู้ประกอบการมีสิทธิออกใบลดหนี้ได้ คือ

  • มีการลดราคาสินค้าที่ขาย เนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุด เสียหาย หรือจำนวนไม่ครบถ้วน

  • มีการลดราคาค่าบริการ เนื่องจากให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน

  • คำนวณราคาค่าสินค้าหรือบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง

  • ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมา เนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องไม่ตรงตามตัวอย่าง

  • มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากเหตุและตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

  • ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้คืนเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจองให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า

ผลกระทบต่อรายงานภาษี

  • กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออก "ใบลดหนี้" ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ จะนำมาหักออกจากภาษีขายในเดือนภาษีที่ได้ออกใบลดหนี้

  • กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบลดหนี้จะนำมาหักจากภาษีซื้อในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้

การจัดทำใบลดหนี้ ต้องมีรายการอย่างน้อยดังนี้

  1. คำว่า "ใบลดหนี้"

  2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

  3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและสำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ของผู้ซื้อ

  4. วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้

  5. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

  6. มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่าง

  7. คำอธิบายถึงสาเหตุการออกใบลดหนี้

  8. ข้อความอื่นๆ ที่อธิบดีกำหนด ดังนี้

  • "สำนักงานใหญ่" เช่น สนญ, HO, HQ, หรือ 00000

  • "สาขาที่....." เช่น สาขาที่ 1, สาขาที่ 01, BRANCH No 1, br.no 1 หรือ 00001

"ใบลดหนี้" จะถือเป็นใบกำกับภาษีได้ก็ต่อเมื่อจัดทำใบลดหนี้ โดยระบุข้อความข้างต้นอย่างถูกต้องครบถ้วน ดังนั้นผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงควรตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดทุกครั้ง

อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากร

Commenti


bottom of page