ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีให้กับผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ผู้ประกอบการจะต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อใดนั้นต้องพิจารณาจุดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Tax Point
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการ มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. การให้บริการทั่วไป ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ
เว้นแต่ มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
2. การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำให้ ความรับผิดตามส่วนของบริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง
เว้นแต่ มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
3. การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วแต่กรณี
4. การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(5) และภายหลังได้มีการโอนสิทธิในบริการอันทำให้ผู้รับโอนสิทธิในบริการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (2) ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ
อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากร
댓글