ผู้ประกอบการเคยคำนวณราคาสินค้าต่ำไป หรือเคยหรือไม่ที่ส่งสินค้าไปมากกว่าที่ตกลง แล้วจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
เอกสารที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ ใบเพิ่มหนี้ ดังนั้นมาทำความเข้าใจกันว่าจะออกใบเพิ่มหนี้ได้เมื่อไหร่ และจะต้องจัดทำอย่างไร
เหตุที่ผู้ประกอบการมีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้ได้ คือ
มีการเพิ่มราคาสินค้าที่ขายหรือเพิ่มราคาค่าบริการเนื่องจากสินค้าหรือบริการเกินกว่าจำนวนที่ตกลงกัน
คำนวณราคาสินค้าหรือค่าบริการผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง
ในเดือนที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องออก "ใบเพิ่มหนี้" ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ผลกระทบต่อรายงานภาษี
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออก "ใบเพิ่มหนี้" ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ จะถือเป็นภาษีขายในเดือนภาษีที่ได้ออกใบเพิ่มหนี้
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับจะถือเป็นภาษีซื้อในเดือนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้
การจัดทำใบเพิ่มหนี้ ต้องมีรายการอย่างน้อยดังนี้
คำว่า "ใบเพิ่มหนี้"
ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและสำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ของผู้ซื้อ
วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้
หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่าง
คำอธิบายถึงสาเหตุการออกใบเพิ่มหนี้
ข้อความอื่นๆ ที่อธิบดีกำหนด ดังนี้
"สำนักงานใหญ่" เช่น สนญ, HO, HQ, หรือ 00000
"สาขาที่....." เช่น สาขาที่ 1, สาขาที่ 01, BRANCH No 1, br.no 1 หรือ 00001
"ใบเพิ่มหนี้" จะถือเป็นใบกำกับภาษีได้ก็ต่อเมื่อจัดทำใบเพิ่มหนี้โดยระบุข้อความข้างต้นอย่างครบถ้วน ดังนั้นผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงควรตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียด
อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากร
Comentarios