top of page
Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

ภาษีซื้อต้องห้ามที่ผู้ประกอบการต้องรู้

Updated: Feb 20, 2021

ภาษีซื้อต้องห้ามเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือนำมาขอคืนภาษีซื้อได้


โดยปกติแล้วเวลาซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการ ผู้ประกอบการจะเสียภาษีซื้อและเก็บใบกำกับภาษีที่ได้รับเพื่อนำมาใช้เป็นยอดหักออกจากภาษีขาย แล้วจึงนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่สรรพากรตามส่วนต่างที่เหลืออยู่ แต่ก็มีภาษีซื้อบางลักษณะที่ไม่สามารถนำมาหักได้ ซึ่งเรียกว่า "ภาษีซื้อต้องห้าม"


ภาษีซื้อต้องห้ามมีลักษณะดังนี้

1. ไม่มีใบกำกับภาษี หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ออกใบกำกับภาษีหรือออกใบกำกับแต่ระบุชื่อบุคคลอื่น

2. ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ

ใบกำกับภาษีที่นำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อได้ต้องเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นต้องตรวจสอบใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อได้รับ

3. ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ

รายจ่ายที่มิใช่เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ถึงแม้ใบกำกับภาษีมีรายการครบถ้วนก็ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

4. ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง

ค่ารับรองหรือค่าบริการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร เป็นต้น แม้จะจ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กิจการก็ไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักจากภาษีขายหรือขอคืนได้

5. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี

ผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีมีดังนี้

  • บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่อยู่นอกราชอาณาจักรและมีตัวแทนทำการออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นหรือโดยบุคคลอื่น

6. ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีฯ ดังนี้

(1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ยกเว้นกรณีประกอบกิจการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือประกอบกิจการให้เช่ารถยนต์ หรือประกอบกิจการบริการรับประกันวินาศภัยรถยนต์

(2) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ

(3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้ หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

(4) ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในกิจการซึ่งเป็นประเภทเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขายหรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

(5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งคำว่า "ใบกำกับภาษี" ไม่ได้ตีพิมพ์ หรือไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

(6) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป มิได้จัดทำตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

(7) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (copy) ไม่รวมกรณีที่จัดทำใบกำกับภาษีรวมกับเอกสารอื่นและใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า "เอกสารออกเป็นชุด"

(8) ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

(9) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนำไปใช้ในกิจการทั้งประเภทเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในภาษีขาย เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่า 90% ของรายได้ทั้งหมด

(10) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ซึ่งรายการในใบกำกับได้ถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

(11) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครองได้มีการดัดแปลงเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ยกเว้นกรณีขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และการให้บริการเช่ารถยนต์

(12) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปซึ่งชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ


จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องภาษีซื้อต้องห้าม ดังนั้นเมื่อได้รับใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้าหรือจ่ายชำระค่าบริการจึงควรตรวจสอบอย่างละเอียดทุกครั้ง เพื่อสิทธิประโยชน์ของกิจการ และลดปัญหาในเรื่องการเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มอันเนื่องมาจากจัดประเภทภาษีซื้อหรือภาษีซื้อต้องห้ามไม่ถูกต้องและทำให้จ่ายชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.30 ไม่ครบถ้วน


อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากร

Comments


bottom of page