ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง "ภาษีซื้อต้องห้าม" กับ "ภาษีซื้อไม่ขอคืน" เพื่อรู้ถึงข้อควรระวังในเรื่องการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีซื้อต้องห้าม คือ ภาษีซื้อที่ไม่สามารถนำมาหักจากภาษีขาย หรือไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ตามระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีซื้อต้องห้ามมีทั้งประเภทที่นำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เช่น ภาษีซื้ออันเกิดจากค่ารับรอง, ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นต้น
และภาษีซื้อต้องห้ามที่ไม่สามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เช่น กรณีไม่มีใบกำกับภาษี หรือใบกำกับภาษีสูญหาย เป็นต้น
ภาษีซื้อไม่ขอคืน คือ ภาษีซื้อที่มีสิทธิขอคืนหรือหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ประสงค์จะขอคืนภาษีซื้อดังกล่าว
ภาษีซื้อไม่ขอคืนจะไม่สามารถเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
วิธีการบันทึกบัญชี ควรบันทึกดังนี้
Dr. ค่าใช้จ่าย xxx
ภาษีซื้อไม่ขอคืน xxx
Cr. เงินสด xxx
ดังนั้น ตอนสิ้นปีจะต้องปรับปรุงรายการโดยบวกกลับด้วยยอด "ภาษีซื้อไม่ขอคืน" ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
เมื่อผู้ประกอบการเข้าใจแล้วก็สามารถปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสอบทานการคำนวณภาษีได้อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ของกิจการ
อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากร
Comments