top of page
  • Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

ทำความเข้าใจ ภ.พ.36

Updated: Feb 20, 2021

หลายคนยังสงสัยว่า ภ.พ.36 คืออะไรและจะต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 หรือไม่ ดังนั้นมาทำความเข้าใจกันว่าใครบ้างที่มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.36?


ภ.พ.36 คือ แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม


ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.36 มีดังนี้

1. ผู้จ่ายเงินที่จ่ายค่าซื้อสินค้าหรือบริการให้แก่

  • ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในไทยเป็นการชั่วคราวและไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว หรือ

  • ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการในไทย

2. ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วในอัตราร้อยละ 0 ได้แก่ การรับโอนสินค้าหรือรับโอนสิทธิในบริการ ที่ได้มีการขายหรือให้บริการกับองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ ทั้งนี้เฉพาะการขายสินค้าหรือให้บริการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด ตามมาตรา 83/7 แห่งประมวลรัษฎากร

3. ผู้ขายทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือส่วนราชการ


กำหนดระยะเวลาการยื่นแบบและนำส่งภาษี

  • ต้องนำส่งภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน


เงื่อนไขของภาษีซื้อ

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้จ่ายเงินนำส่ง ถือเป็นภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีหน้าที่นำส่งและใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้ ถือเป็นใบกำกับภาษีของเดือนที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • และมีสิทธินำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายในเดือนที่มีการนำส่งภาษีเท่านั้น ไม่สามารถนำไปเป็นภาษีซื้อ ภายใน 6 เดือน ถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี

อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากร

bottom of page