ไม่ใช่ทุกกิจการจะสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจว่ากิจการของเราอยู่ในลักษณะที่ได้รับอนุญาตหรือไม่
กิจการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
คือ กิจการที่ขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือกิจการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
การขายปลีกเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อนำไปบริโภคหรือใช้สอย มิได้มีวัตถุประสงค์นำไปขายต่อ เช่น ขายของชำ ขายยา ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
การให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น กิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการโรงภาพยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป พร้อมสำเนาใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้อง
ลักษณะใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต้องมีข้อความอย่างน้อยดังนี้
คำว่า "ใบกำกับภาษีอย่างย่อ"
ชื่อ หรือ ชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบกำกับภาษี
หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
ราคาสินค้า หรือราคาค่าบริการ ต้องมีข้อความระบุว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว
วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
ชื่อ หรือประเภทของสินค้าจะออกเป็นรหัสก็ได้ แต่ต้องแจ้งรหัสให้อธิบดีทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วันก่อนใช้รหัส
ข้อควรระวัง
หากกิจการต้องการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงินจะต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน
กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อ แต่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากร
Comments