top of page
  • Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีหนี้สูญของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปและของสถาบันการเงิน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ทั้งนี้ยังไม่ได้มีสภาพบังคับใช้เป็นกฎหมายแต่อย่างใด


หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ มีสาระสำคัญดังนี้

ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญ

1. เพิ่มวงเงินสำหรับการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้แต่ละรายเป็นเกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป (จากเดิมเกิน 500,000 บาทขึ้นไป) และกำหนดขั้นตอนให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

  • ติดตามทวงถามให้ชําระหนี้ตามสมควร โดยมีหลักฐานการติดตามทวงอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ หรือ

  • ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีแพ่งที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้อง โดยมีหมายบังคับคดีของศาลแล้ว และมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า มีการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชำระหนี้ได้

2. เพิ่มวงเงินการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้แต่ละรายเป็นไม่เกิน 2,000,000 บาท (จากเดิมไม่เกิน 500,000 บาท) และกำหนดขั้นตอนให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น

  • ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควร โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้ง แต่ไม่ได้รับชำระหนี้

  • ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งและศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ในคดีแพ่งที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องและศาลมีคำสั่งรับคำขอนั้นแล้ว หรือ

  • ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายและศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นแล้ว หรือยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องหรือในคดีที่ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายและศาลมีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้นั้นแล้ว

3. กำหนดวงเงินการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้รายย่อยของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปเป็นไม่เกิน 200,000 บาท (จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท) โดยไม่ต้องดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1. หรือข้อ 2. ถ้าปรากฏว่า มีหลักฐานการติดตามทวงถามตามสมควรแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับ


4. กำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนของหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันสำรองครบร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้ เช่น เป็นลูกหนี้ค้างชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเป็นระยะเวลารวมกันไม่น้อยกว่า 360 วันหรือ 12 เดือน หรือเป็นลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์การตัดสินทรัพย์ออกจากบัญชีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด


bottom of page