top of page
  • Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

ผู้ประกอบการทำความเข้าใจภาษีมูลค่าเพิ่ม

Updated: Feb 20, 2021

ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการทั้งในขั้นตอนการขายและการซื้อ ดังนั้นควรทำความเข้าใจว่าภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร และจะต้องคำนวณนำส่งอย่างไร


ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภคซึ่งเรียกเก็บภาษีจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ โดยคำนวณจากมูลค่าสินค้าหรือบริการในอัตรา 7%

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ผู้ขายสินค้าและผู้ให้บริการในราชอาณาจักร และผู้นำเข้าสินค้า


คำนวณอย่างไร เพื่อนำส่งในแต่ละเดือน

ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) เป็นรายเดือนทุกเดือน โดยยื่นแบบตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการหรือไม่


การคำนวณแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้

1. กรณีกิจการจดทะเบียนทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 7%

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ = ภาษีขาย - ภาษีซื้อ

  • กรณีภาษีขาย > ภาษีซื้อ = ผู้ประกอบการต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เท่ากับส่วนต่างของภาษีขายและภาษีซื้อ

  • กรณีภาษีขาย < ภาษีซื้อ = ผู้ประกอบการมีสิทธิขอคืนส่วนต่างเป็นเงินสด หรือขอเครดิตภาษีในเดือนถัดไป

ภาษีขาย (Output Tax) คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อขายสินค้าหรือรับชำระค่าบริการ หากภาษีขายเกิดขึ้นในเดือนใดก็ถือเป็นภาษีขายในเดือนนั้น ทั้งนี้รวมถึงกรณีพิเศษ ดังนี้

  • กรณีผู้ประกอบการนำสินค้าไปใช้ โดยมิใช่เพื่อการประกอบการโดยตรง

  • กรณีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

  • กรณีมีสินค้าคงเหลือและทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ หรือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอน หรือวันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อสังเกต: การคำนวณภาษีขายเพื่อแสดงในใบกำกับภาษี จะระบุเป็นทศนิยมสองตำแหน่ง


ภาษีซื้อ (Input Tax) คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจ่ายให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เมื่อซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง หากภาษีซื้อเกิดขึ้นในเดือนใด ก็เป็นภาษีซื้อของเดือนนั้น

ข้อสังเกต: ภาษีซื้อมีสิทธินำไปหักภายหลังได้ แต่ไม่เกิน 6 เดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี โดยมีสาเหตุดังนี้

  • เหตุจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นตามประเพณีการค้า

  • เหตุสุดวิสัย

  • ได้รับใบกำกับภาษีในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี

ทั้งนี้ภาษีซื้อที่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีซื้อได้ต้องไม่มีลักษณะเป็น ภาษีซื้อต้องห้าม


2. กรณีกิจการจดทะเบียนทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตรา 0%

ผู้ประกอบการส่งออกสินค้ามีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% จากมูลค่าส่งออก ในแต่ละเดือนภาษีซื้อจึงมากกว่าภาษีขายเนื่องจากภาษีขายจะมีค่าเท่ากับ 0 ดังนั้นผู้ประกอบการส่งออกจะได้คืนภาษีเท่ากับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือน


จากหน้าที่ข้างต้นที่ผู้ประกอบการต้องคำนวณและยื่นแบบ ภ.พ.30 ในแต่ละเดือนนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องจัดเก็บเอกสารใบกำกับภาษีซื้อตัวจริงและสำเนาใบกำกับภาษีขายให้ครบถ้วนเพื่อประกอบการทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขายด้วยเช่นกัน

อ้างอิง: กรมสรรพากร, ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

bottom of page