ผู้ประกอบการรู้หรือไม่ว่า การรับรู้รายจ่ายทางภาษีที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตนั้น มีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจ
การรับรู้รายจ่ายในแต่ละประเภทธุรกิจ ดังต่อไปนี้
กรณีรถยนต์มีไว้ใช้ในธุรกิจทั่วไป
กรณีได้มาโดยการซื้อ
มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีได้มาโดยการเช่า
ค่าเช่าทรัพย์สินเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ไม่เกินคันละ 36,000 บาทต่อเดือนในกรณีที่เช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี หรือ
ค่าเช่าไม่เกินคันละ 1,200 บาท ต่อวันในกรณีที่เช่าเป็นรายวัน เศษของเดือนให้คิดเป็นวัน หากเช่าไม่ถึง 1 วัน ให้คำนวณค่าเช่าตามส่วนของระยะเวลาที่เช่า โดยรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีรถยนต์เพื่อให้เช่าในธุรกิจให้เช่ารถยนต์
กรณีได้มาโดยการซื้อ
มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนทั้งหมด (ทั้งนี้ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการจด VAT หรือ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจด VAT)
กรณีได้มาโดยการเช่า
ค่าเช่าทรัพย์สินเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ทั้งจำนวน (ทั้งนี้ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการจด VAT หรือ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจด VAT)
กรณีรถยนต์เป็นสินค้าในธุรกิจซื้อขายหรือให้เช่าซื้อรถยนต์
มูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินถือเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ทั้งจำนวน (ทั้งนี้ ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการจด VAT หรือ รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจด VAT)
ผู้ประกอบการจะเห็นได้ว่า รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตนั้น มีวิธีการรับรู้รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจและปรับใช้ให้เหมาะสมเพื่อประโยชน์ในทางภาษีของกิจการ
อ้างอิง: www.rd.go.th
Comments