top of page
  • Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

สินค้าคงเหลือไม่ตรงกับรายงาน

Updated: Feb 20, 2021

สินค้าคงเหลือตามที่ตรวจนับสิ้นปีมีจำนวนไม่ตรงกับรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ไม่ว่าจะสูงหรือต่ำไป ซึ่งถือเป็นประเด็นเสี่ยงที่กรมสรรพากรจับตามอง ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการอย่างไรเมื่อพบว่ายอดสินค้าคงเหลือผิดไปจากข้อเท็จจริง


สินค้าคงเหลือขาดจากรายงาน


คือ สินค้าที่ตรวจนับมีต่ำกว่ายอดที่แสดงในรายงาน อาจเกิดจากสินค้าสูญหาย หรือการขายสินค้านอกระบบโดยไม่เปิดใบกำกับภาษี


ผู้ประกอบการดำเนินการดังนี้


1. ประเด็นภาษีขาย


สินค้าขาดจากรายงานถือเป็นการขาย ดังนั้นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่จำเป็นต้องออกใบกำกับภาษี คือจะออกใบกำกับภาษีหรือไม่ก็ได้ ตามข้อ 2 ของคำสั่งกรมสรรมพากรที่ ป. 86/2542 "ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำใบกำกับภาษี"


การคำนวณภาษีขาย: นำราคาสินค้าตามราคาตลาดมาเป็นฐานภาษีตามมาตรา 79/3 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดว่า "ราคาตลาด" ได้แก่ ราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น


2. ประเด็นเบี้ยปรับ


ต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสีย


3. ประเด็นรายงานการตรวจนับสินค้า


นำ "รายงานตรวจนับสินค้า" ใช้เป็นหลักฐานในการตัดปริมาณสินค้าที่ขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบเพื่อปรับยอดให้ตรงกับความเป็นจริง


สินค้าคงเหลือเกินจากรายงาน


คือ สินค้าที่ตรวจนับมีสูงกว่ายอดที่แสดงในรายงาน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การจัดการเอกสารไม่ดี มีการรับสินค้าโดยไม่ได้บันทึกรายการ หรือมีข้อบกพร่องในระบบการควบคุมสินค้า เป็นต้น


ผู้ประกอบการดำเนินการดังนี้


1. ประเด็นค่าปรับ

ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (เปรียบเทียบปรับเพียง 1,000 บาท) โดยมีอายุความ 1 ปีนับจากวันที่กระทำผิด


2. ประเด็นรายงานการตรวจนับสินค้า


นำ "รายงานตรวจนับสินค้า" ใช้เป็นหลักฐานในการปรับเพิ่มปริมาณสินค้าที่เกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบเพื่อปรับยอดให้ตรงกับความเป็นจริง


จากประเด็นข้างต้น ผู้ประกอบการควรจัดให้มีระบบการควบคุมสินค้าคงเหลือ และตรวจนับสินค้าคงเหลืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แสดงปริมาณสินค้าคงเหลือได้อย่างถูกต้อง


อ้างอิง: www.rd.go.th

bottom of page