รู้หรือไม่ บริษัทที่มีผลขาดทุนสุทธิยกมา สามารถนำผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวมาหักจากยอดกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันได้ แต่จะนำมาหักได้อย่างไร และต้องระวังเรื่องใดบ้างเพื่อไม่ให้เสียประโยชน์จากผลขาดทุนดังกล่าว
ผลขาดทุนสุทธิที่จะยกมาหักกำไรสุทธิในรอบปีปัจจุบันต้องเป็นไปตามวิธีการ ดังนี้
ต้องเป็นผลขาดทุนสุทธิทางภาษี คือ ผลขาดทุนสุทธิที่ได้ปรับปรุงรายการตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แล้ว
ต้องเป็นผลขาดทุนยกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน
ให้นำผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดขึ้นก่อนไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีที่มีกำไรสุทธิเป็นปีแรกในช่วงเวลาไม่เกิน 5 ปีหลังจากปีที่มีผลขาดทุนสุทธิดังกล่าว หากมีผลขาดทุนสุทธิเหลืออยู่ ก็ให้นำผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปีต่อไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น
ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เพียงเท่าที่ไม่เกินกว่ากำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเท่านั้น
ตัวอย่างการใช้ผลขาดทุนยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบปีปัจจุบัน
คำอธิบาย
ในปีปัจจุบัน คือ ปี 2562 บริษัทเสียภาษีจากกำไร 30 บาท เนื่องจากใช้ผลขาดทุนสะสมยกมา 60 บาท จากปี 2557 และ ปี 2558 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลขาดทุนยกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบัน
ข้อควรระวัง
กรณีที่ 1 การใช้ผลขาดทุนสุทธิยกมา ต้องใช้ตามหลักผลขาดทุนปีใดเกิดขึ้นก่อนต้องนำมาหักก่อน หากนำผลขาดทุนจากปีที่เกิดทีหลังไปใช้จะถือว่าหมดสิทธิ์ใช้ผลขาดทุนในปีที่เกิดก่อน เช่น ปีที่ 3 (ปี 2559) มีกำไรสุทธิ 20 บาท แต่บริษัทนำผลขาดทุนปีที่ 2 (ปี 2558) ไปใช้หักจากยอดกำไร ดังนั้นบริษัทจะไม่สามารถนำผลขาดทุนปีที่ 1 (ปี 2557) มาใช้ได้อีกถือว่าสละสิทธิ์ 80 บาท
กรณีที่ 2 หากบริษัทนำผลขาดทุนมาใช้เพียงบางส่วนโดยไม่นำมาใช้ให้ครบจะถือว่าสละสิทธิ์ในส่วนที่เหลือ เช่น ปีที่ 4 (ปี 2560) มีกำไรสุทธิ 40 บาท แต่บริษัทใช้ผลขาดทุนจากปีที่ 2 (ปี 2558) มาหักจะถือว่าบริษัทสละสิทธิ์ในผลขาดทุนที่เหลืออยู่ของปีที่ (ปี 2557) เป็นจำนวน 60 บาท
อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากรและมาตรา 65 ตรี (12)
Comentários