top of page
  • Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าปรับทางอาญา ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม

Updated: Feb 20, 2021

เบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เนื่องจากเป็นการลงโทษผู้กระทำผิด ดังนั้นจึงไม่ให้หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก หากนำมาเป็นรายจ่ายได้จะเสมือนเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิดในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล


ทำความเข้าใจ "เบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญา"

  • เบี้ยปรับ เป็นมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้มีเงินได้หรือผู้ประกอบการที่เสียภาษีไม่ถูกต้องหรือละเลยไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การเสียภาษีซึ่งส่วนใหญ่กฎหมายจะกำหนดให้รับผิดเป็นจำนวนหนึ่งเท่าหรือสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสีย อย่างไรก็ตามเบี้ยปรับนั้น อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

  • เงินเพิ่มภาษีอากร เป็นมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้มีเงินได้หรือผู้ประกอบการที่ไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามประมวลรัษฎากร

  • ค่าปรับทางอาญา เป็นการลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายภาษีอากร


เบี้ยปรับ เงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท ที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ดังนี้

1. ภาษีอากรที่จัดเก็บโดยหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงการคลัง

  • กรมสรรพากร ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีอากรแสตมป์, ภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมถึงภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีมรดก

  • กรมศุลกากร ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีศุลกากรทั้งอากรขาเข้า อากรขาออก และค่าธรรมเนียมต่างๆ

  • กรมสรรพสามิต ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิต

2. ภาษีอากรที่จัดเก็บโดยหน่วยงานระดับท้องถิ่น เช่น

  • ภาษีป้าย

  • ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง


อ้างอิง: คําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 40/2560 https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/di40.pdf

bottom of page