top of page
Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

นายจ้างกับกองทุนเงินทดแทน

Updated: Feb 20, 2021

กองทุนเงินทดแทนเป็นอีกหนึ่งกองทุนในระบบประกันสังคมที่นายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเพียงฝ่ายเดียวตามประเภทความเสี่ยงของกิจการ โดยจะถูกเรียกเก็บเป็นรายปี


กองทุนเงินทดแทน คือ กองทุนที่จ่ายทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง กรณีประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย สูญเสียสมรรถภาพ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต เนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง


สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมของกองทุนเงินทดแทน มีดังนี้

  1. ค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่ารักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา

  2. ค่าทดแทนรายเดือน ใน 4 กรณี ต่อไปนี้

  • กรณีไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรก ได้รับเงินทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ไม่เกิน 1 ปี

  • กรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน ได้รับเงินทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ไม่เกิน 10 ปี

  • กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน ไม่น้อยกว่า 15 ปี

  • กรณีตายหรือสูญหาย ได้รับเงินทดแทน 70% ของค่าจ้างรายเดือน 10 ปี และค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพ 40,000 บาท

หน้าที่ของนายจ้าง

นายจ้างมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน ในอัตรา 0.2% - 1.0% ของค่าจ้างทั้งปี (% นี้ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสี่ยงภัยในการทำงานของแต่ละกิจการ) โดยจ่ายสูงสุดคนละไม่เกิน 240,000 บาทต่อปี หรือ ไม่เกิน 20,000 บาท/คน/เดือน


ขั้นตอนการชำระเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทน

  1. เดือนมกราคม เป็นการชำระครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าประจำปี กำหนดชำระภายในวันที่ 31 มกราคม ตามแบบใบประเมินเงินสมทบประจำปี (กท. 26ก)

  2. เดือนกุมภาพันธ์ ให้นายจ้างแสดงรายงานค่าจ้างที่จ่ายจริงทั้งหมดของปีที่ผ่านมา ตามแบบแสดงใบค่าจ้างประจำปี (กท. 20ก) ทั้งนี้ควรกระทบยอดกับ ภ.ง.ด. 1ก ด้วย

  3. เดือนมีนาคม เป็นการชำระครั้งที่ 2 ซึ่งจ่ายเงินสมทบจากการรายงานค่าจ้าง ภายใน 31 มีนาคม ตามที่คำนวณได้จากแบบใบแจ้งเงินสมทบจากการรายงานค่าจ้างประจำปี (กท. 25 ค)

สำหรับกรณีปีแรกที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างจะต้องจ่ายภายใน 30 วันนับตั้งแต่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป


ทั้งนี้นายจ้างควรหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินสมทบล่าช้าหรือไม่ครบจำนวน เพื่อลดภาระเงินเพิ่มตามกฏหมายในอัตรา 3% ต่อเดือนของเงินสมทบที่ต้องจ่าย


อ้างอิง: สำนักงานประกันสังคม

コメント


bottom of page